Pharmacy Division Ramathibodi Hospital

Home
Pharmacist
About
รอบรู้เรื่องยา
คุยกันเรื่องยา
ความรู้เรื่องโรคสมองเสื่อม


พญ. สิรินทร ฉันศิริกาญจน
ภาควิชาอายุรศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี




สมองเสื่อมคืออะไร สมองเสื่อมกับสมองฝ่อเหมือนกันหรือไม่

สมองเสื่อม คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีการเสื่อมของการทำงานของสมองทั้งหมด ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับความจำ ความรอบรู้ มีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและบุคลิกภาพของผู้ป่วยรายนั้น ๆ

สมองเสื่อมไม่ใช่เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปเมื่อคนเราสูงอายุ แต่ภาวะสมองเสื่อม ถือเป็นโรคที่เกิดขึ้นในคนนั้น ๆ คนสูงอายุทั่วไปอาจจะมีการลืมได้บ้าง แต่ว่าลืมแล้วก็จะจำได้ อาจจะนึกไม่ออกว่าเราเอาของไปวางไว้ที่ไหน แต่ก็รู้ว่า เอ๊ะ! เราต้องไปวางไว้แน่ ๆ จำได้ว่าถือมา แต่เราเอาไปวางไว้ที่ไหน แล้วเราก็หาดูว่าเราเอาไปวางไว้ที่ไหน แต่ในผู้ป่วยสมองเสื่อม สิ่งเหล่านี้ผู้ป่วยจะจำไม่ได้เลยว่าหยิบของนี้มา หรือจำไม่ได้เลยว่ามีการทำกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น จำไม่ได้ว่ารับประทานอาหารไปหรือยัง จำไม่ได้ว่าพึ่งทานไปประเดี๋ยวนี้ การลืมใหญ่ ๆ แบบนี้เป็นลักษณะของผู้ป่วยสมองเสื่อม

นอกจากนั้นผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพรวมด้วย กล่าวคือแต่ก่อนเคยมีบุคลิกภาพอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นคนแต่งตัวสวยงามดูแลตนเองอยู่เสมอ ต้องไปทำผมสระผมทุกวันเสาร์อาทิตย์ เมื่อมีอาการเปลี่ยนแปลงทางสมอง ผู้ป่วยจะไม่สนใจตัวเอง ไม่ดูแลตัวเอง ให้ไปทำผมสระผมก็ไม่ไป บางรายไม่ยอมอาบน้ำ บางรายเอาเสื้อผ้าที่ใส่แล้วนำมาแขวนไว้แล้วนำกลับมาใส่อีกซ้ำ ๆ ซาก ๆ ไม่ยอมเอาไปซัก เป็นต้น

ผู้ป่วยอาจมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วย จากคนที่เรียบร้อยคนช่างหัวเราะ อาจจะมีพฤติกรรมที่โกรธเกรี้ยว ก้าวร้าว รุนแรง หรือในทางกลับกัน บางคนกลับยิ้มหรือหัวเราะตลอดเวลาทั้งที่ไม่ใช่เรื่องขำ ผู้ป่วยอาจหัวเราะ ยิ้ม กินข้าวไปหัวเราะไปก็เคยเจอ ลักษณะอย่างนี้เป็นลักษณะของสมองเสื่อม

ส่วนคนที่ขี้ลืม เอาของไปวางแล้วจำไม่ได้ว่าไปวางไว้ที่ไหน จอดรถอย่างรวดเร็ว ลงรถเดินออกไปแล้วจำไม่ได้ว่าตัวเองล็อกรถหรือยัง ต้องเดินกลับมาดูบ่อย ๆ หรือว่าเดินไปซื้อของ ก็เอาของที่ซื้อมาก่อนหน้านี้วางไว้ที่ร้านนั้น หยิบของใหม่ได้ก็หยิบแต่ของใหม่กลับไป ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะของการลืม ซึ่งอาจพบได้ในคนทั่ว ๆ ไป ซึ่งการลืมเหล่านี้ อาจจะแก้ไขได้โดยฝึกให้ดีขึ้นได้ โดยการตั้งใจคิดอยู่ตลอดเวลาว่า เราถือของนี้มานะ เมื่อจะเดินจากสถานที่แห่งนั้น ให้หยุดคิดว่าเราถืออะไรมาบ้าง ถ้านั่งอยู่ลุกขึ้นแล้ว ให้มองไปที่โต๊ะก่อนว่ ามีอะไรทิ้งอยู่หรือเปล่า มีอะไรค้างอยู่ไหม แล้วจึงเดินไป การฝึกตัวอยู่ เสมอ ๆ จะทำให้การลืมลดลง

สมองเสื่อมเกิดจากสาเหตุอะไร

สมองเสื่อมเกิดจากสาเหตุหลายประการ

1. เกิดจากการเสื่อมสลายของสมอง หมายความว่า เนื้อสมองมีการเสื่อมสลาย หรือมีการตายเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ไม่ทราบว่ามีสาเหตุมาจากอะไร ไม่ทราบว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นทำให้เนื้อสมองมีการตาย โรคที่พบบ่อยในกลุ่มนี้ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และยังมีโรคอื่น ๆ อีกหลายโรค ซึ่งล้วนมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ เช่น Huntington chorea ในกลุ่มนี้ โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาเหนือ ซึ่งพบว่าอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อม 50-70 เปอร์เซนต์ของคนไข้ทั้งหมด สำหรับในคนไทย ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอนว่า คนไทยเป็นอัลไซเมอร์มากน้อยเพียงใด และคิดเป็นอัตราส่วนเท่าไหร่ของคนไข้สมองเสื่อมทั้งหมด แต่ในไม่ช้านี้ คงจะมีการศึกษาและคงจะได้คำตอบออกมา

2. โรคสมองเสื่อมเกิดจากหลอดเลือดสมอง กลุ่มนี้เกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองมีการหนาตัว แข็งตัว หรือมีการตีบตัวผิดปกติ ทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลง ถ้าลดลงมากจนถึงระดับที่ไม่เพียงพอกับการใช้งานของสมอง ก็จะทำให้เนื้อสมองตายไป เนื้อสมองส่วนที่ตายไปนั้น ถ้าเกิดขึ้นในพื้นที่เล็ก ๆ ก็อาจจะยังไม่มีอาการอะไรในระยะแรก แต่ถ้ามีการตายของเนื้อสมอง เนื่องจากการขาดเลือดนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเนื้อสมองมีการตายเป็นจำนวนมาก จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหลงลืมหรือสมองเสื่อมได้ ในบางครั้งเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองนั้น อุดตันในบริเวณเส้นเลือดใหญ่ ทำให้เกิดเนื้อสมองตายขนาดใหญ่ ผู้ป่วยรายนี้อาจจะเกิดอาการสมองเสื่อมได้ ถึงแม้ว่าจะมีการเส้นเลือดอุดตันเพียงครั้งเดียวก็ตาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด บริเวณของสมองที่มีการเสียหายเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง ดังนั้นผู้ป่วยที่แนวโน้มว่า จะมีเส้นเลือดสมองตีบผิดปกติ มักจะอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีระดับไขมันคลอเลสเตอลอลสูง หรือผู้ป่วยที่สูบบุหรี่เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อีก

3. สมองเสื่อมที่เกิดจากการติดเชื้อในสมอง มีเชื้อไวรัสหลายชนิดซึ่งทำให้เกิดการอักเสบในสมอง ตัวอย่างเช่น เชื้อไวรัสสมองอักเสบที่เกิดจากไวรัสที่ติดมาจากหมู ท่านอาจจะเคยทราบข่าวว่า มีการระบาดของไวรัสนี้ในที่ประเทศมาเลเซีย มี หมูมีเชื้อโรคอยู่ในตัว ยุงไปกัดหมูเอาเชื้อโรคจากหมูมาสู่ยุง แล้วยุงนั้นไปกัดคนอีกต่อหนึ่ง คนที่ถูกกัดจะมีอาการไข้ และไวรัสจะขึ้นสมอง ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะถึงแก่ความตาย ผู้ป่วยที่ไม่เสียชีวิต ก็จะมีการเสียหายของเนื้อ ซึ่งความเสียหายนี้จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อสมอง เนื้อสมองบางส่วนที่ตายไป ทำให้ความสามารถของสมองเสื่อมลงไป เสียหายไปในช่วงที่เจ็บป่วยผู้ป่วยจะไม่รู้ตัว นอนตลอดเวลา ถ้าอาการดีขึ้นจะเริ่มรู้ตัว แต่มักจะจำอะไรหรือจำใครไม่ได้ อาจมีพฤติกรรมแปลก ๆ บางคนเอะอะโวยวาย บางคนแสดงอาการว่าเห็นภาพหลอน ซึ่งเป็นลักษณะของสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง นอกจากเชื้อไวรัสนี้แล้ว ในปัจจุบันยังมีเชื้อไวรัสอีกส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัส HIV หรือไวรัสที่ทำให้เกิดเป็นโรคเอดส์นั้นเอง ไวรัสชนิดนี้เข้าไปในร่างกายแล้ว อาจจะทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายบกพร่อง และตัวไวรัสเองก็เข้าไปทำให้เกิดการติดเชื้อ เกิดการเสียหายของสมอง ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ความจำเปลี่ยนแปลง บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เป็นลักษณะของคนเป็นสมองเสื่อมได้ ส่วนใหญ่แล้วสมองเสื่อมที่เกิดการติดเชื้อในสมองนั้น มักพบในคนอายุน้อย

4. สมองเสื่อมจากการขาดสารอาหารบางชนิด โดยเฉพาะวิตามิน เช่น วิตามิน B1 หรือวิตามิน B12 วิตามิน B1 เป็นสารช่วยทำให้การทำงานของเซลล์สมองเป็นไปอย่างปกติ ผู้ที่ขาดวิตามิน B1 มักจะพบในผู้ป่วยที่ติดเหล้า หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง คนกลุ่มนี้มักจะกินเหล้าจนเมา และมักไม่ได้อาหารที่เพียงพอ วิตามิน B1 ไม่เพียงพอต่อร่างกาย ทำให้เซลล์สมองทำงานไม่ได้ตามปกติ จนอาจจะถึงแก่เซลล์สมองเสียหายตายไป นอกจากนี้วิตามิน B12 เองก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานของสมอง ผู้ป่วยที่ขาดวิตามิน B12 มักจะพบในผู้ป่วยที่เป็นมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด เป็นเวลานานหลาย ๆ ปี ส่วนใหญ่แล้วในคนไทยมักจะได้วิตามิน B12 จากน้ำปลาหรือจากอาหารเนื้อสัตว์ เช่น หมู คนที่รับประทานมังสวิรัติก็จะขาดสารอาหารตัวนี้ ดังนั้น คนที่ทานมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด จึงควรได้รับวิตามินเสริมเป็นครั้งคราว เพื่อให้เพียงพอกับการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย นอกจากนี้ยังอาจพบการขาดวิตามิน B12 ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้นออกไป ซึ่งจะทำให้ขาดสารอาหารบางอย่าง ซึ่งช่วยหรือเป็นตัวจำเป็นในการดูดซึมวิตามิน B12 จากกระเพาะอาหารและลำไส้เข้าสู่ระบบร่างกาย

5. สมองเสื่อมจากการแปรปรวนของเมตาโบลิกของร่างกาย เช่นการทำงานของต่อมไร้ท่อบางชนิดผิดปกติไป เช่น ต่อมธัยรอยด์ทำงานมากไป หรือทำงานน้อยไป การทำงานของตับหรือของไตผิดปกติไป จะทำให้เกิดของเสียคั่งอยู่ในร่างกาย ซึ่งมีผลทำให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ ถ้าภาวะอย่างนี้เป็นอยู่นาน ๆ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการสมองเสื่อมได้

6. สมองเสื่อมจากการถูกกระทบกระแทกที่ศรีษะอยู่เสมอ ๆ ภาวะนี้พบบ่อยในคนที่มีปัจจัยเสี่ยง ที่จะมีการกระทบกระแทกที่ศีรษะ โดยเฉพาะพวกนักมวย นักกีฬาบางชนิดที่ต้องใช้ศีรษะกระแทกสิ่งต่าง ๆ หรืออาจจะพบในผู้ป่วยที่ดื่มสุรา เมาแล้วก็เดินชนโน่นชนนี่ หรือหกล้มศีรษะฟาดพื้น ถ้าเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก เนื้อสมองที่กระทบกระแทกกระเทือนนั้นจะตายไป เมื่อเนื้อสมองตายไปจำนวนมากเข้า ก็จะทำให้การทำงานไม่เป็นปกติ มีอาการสมองเสื่อมได้

7. สมองเสื่อมจากเนื้องอกในสมอง โดยเฉพาะเนื้องอกที่เกิดจากทางด้านหน้าของสมอง ผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการแบบที่พบในเนื้องอกสมองส่วนอื่น เช่น อาการแขนขาไม่มีแรง มองเห็นภาพซ้อน หรืออาการซึ่งแสดงว่ามีความดันในกระโหลกศีรษะมากขึ้น เช่น อาเจียนหรือปวดศีรษะ แต่เนื้องอกในบริเวณนี้อาจจะทำให้บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง ความจำและการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ป่วยสมองเสื่อมได้

ข้างบนนี้เป็นสาเหตุที่เจอบ่อย ๆ ที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมได้ อย่างไรก็ตามสมองเสื่อมในคนสูงอายุ มักจะมีสาเหตุมาจากโรคอัลไซเมอร์ หรือปัญหาหลอดเลือดสมองผิตปกติ หรือในคนไข้บางคนอาจจะเป็นทั้งสองอย่าง คืออาจจะเป็นทั้งอัลไซเมอร์ และมีปัญหาหลอดเลือดสมองรวมด้วย

จะทราบได้อย่างไรว่าขี้ลืม (ธรรมดา ๆ) หรือโรคสมองเสื่อม

เมื่อผู้ป่วยหรือญาติ รู้สึกว่าคนบางคนมีความจำผิดปกติ หรือมีปัญหาพฤติกรรมผิดปกติ ก็อาจจะนำผู้ป่วยมาปรึกษาแพทย์ แพทย์จะต้องดำเนินการซักประวัติ ประวัติอาการของผู้ป่วย จะช่วยให้แพทย์สามารถทราบได้ว่า ผู้ป่วยนั้นเป็นสมองเสื่อมจริงหรือไม่ และถ้าใช่น่าจะเป็นสมองเสื่อมจากสาเหตุอะไร แพทย์จะซักเกี่ยวกับ



ตรวจร่างกาย
แพทย์จะตรวจดูถึงความผิดปกติที่อยู่ในระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และจะต้องตรวจระบบของสมองด้วย

การทดสอบสมรรถภาพของสมอง
แพทย์จะให้ผู้ป่วยตอบคำถามหลาย ๆ อย่าง เพื่อที่จะดูว่า สิ่งที่ผู้ป่วยบ่นว่าลืมนั้น เป็นอาการลืมที่พบได้ในคนทั่ว ๆ ไป หรือมีลักษณะแนวโน้มว่าจะเป็นสมองเสื่อม ผู้ป่วยจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับเวลา สถานที่ที่อยู่ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อาจจะให้มีการจำของบางอย่างแล้วถามซ้ำทีหลัง อาจจะให้ผู้ป่วยทำกิจการบางอย่างให้ผู้ทดสอบดู เช่นให้วาดรูปให้เขียนนาฬิกา หรือให้บวกเลขลบเลข เป็นต้น เพื่อดูว่าสมองยังทำงานได้ตามปกติหรือไม่

การตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์ (ตรวจเลือด) และเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง
เนื่องจากสาเหตุสมองเสื่อมเป็นได้จากหลายประการ อาจจะเกิดจากความผิดปกติแปรปรวนของระบบ เมตาโบลิกของร่างกาย เราจึงต้องเจาะเลือดเพื่อดูว่าผู้ป่วยมีปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นหรือไม่ และการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะดูว่า ผู้ป่วยมีเนื้องอกหรือความผิดปกติอื่น ๆ อยู่หรือไม่ หรือมีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยเคยมีปัญหาหลอดเลือดในสมองตีบหรืออุดตันมาก่อน จึงทำให้เกิดเนื้อสมองตายเป็นย่อมๆ

ซึ่งทั้งหมดนี้มาประมวลรวมกันแล้ว แพทย์ก็สามารถจะให้คำตอบได้เป็นแนวทางว่า ผู้ป่วยเป็นสมองเสื่อมหรือไม่ ถ้าเป็นน่าจะมีสาเหตุมาจากอะไร

โรคสมองเสื่อมรักษาได้หรือไม่

โรคสมองเสื่อมนั้นบางอย่างอาจจะรักษาได้ แต่บางอย่างอาจจะก็รักษาไม่ได้ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า โรคสมองเสื่อมอาจเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ ในผู้ป่วยสมองเสื่อมที่เกิดจากการขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น วิตามิน B1, B12 หรือผู้ป่วยที่มีการแปรปรวนของระบบเมตาโบลิกของร่างกาย ผู้ป่วยสองกลุ่มนี้ถ้าได้รับการรักษาแล้ว อาการสมองเสื่อมมักจะดีขึ้น ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีอาการมากน้อยเพียงใด ความเสียหายของสมองมีมากน้อยเพียงใด ถ้าความเสียหายมีไม่มากนัก ได้รับการแก้ไขตามเวลาที่สมควร เนื้อสมองไม่ถูกทำลายไปมาก ผู้ป่วยก็จะมีอาการดีขึ้น และหลังจากรักษาแล้วอาการก็จะทรงอยู่ในลักษณะนั้นไปเรื่อย ๆ

ส่วนโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากการเสื่อมสลายของสมอง ปัญหาหลอดเลือดสมอง จากการติดเชื้อในสมอง จากการกระทบกระแทก ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะไม่สามารถรักษาได้ อาจจะมียาบางอย่างช่วยทำให้อาการของผู้ป่วยดำเนินไปช้าลง แต่ในที่สุดโรคที่ดำเนินมากขึ้น อาการสมองเสื่อมของบุคคลนั้น ก็จะไปตามทันคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ยาเหมือนกัน

ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการสมองเสื่อมตั้งแต่อายุเท่าไหร่

จะเป็นโรคสมองเสื่อมตั้งแต่อายุที่เท่าไหร่ก็ได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการสมองเสื่อมจากสาเหตุดังนี้ ได้แก่ อาการสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อในสมอง เกิดจากการขาดสารอาหาร เกิดจากการแปรปรวนเมตาโบลิกของร่างกาย ได้รับการกระทบกระเทือนกระแทก หรือจากเนื้องอกในสมอง เป็นต้น สำหรับกลุ่มโรคอัลไซเมอร์ และโรคที่เกิดจากการเสื่อมสลายของสมอง หรือผู้ป่วยสมองเสื่อมจากปัญหาหลอดเลือดสมอง เรามักจะพบว่าผู้ป่วยมักจะอายุมากกว่ากลุ่มแรก อย่างไรก็ตามโรคบางโรคที่เกิดจากการเสื่อมสลายของสมอง เช่น โรค Huntington chorea อาจจะเกิดกับคนไข้อายุน้อยก็ได้ และโรคในกลุ่มนี้ บางโรคจะถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ด้วย

ผู้ป่วยสมองเสื่อมเมื่อป่วยแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้อีกนานเท่าไร

เป็นการยากที่จะบอกว่าผู้ป่วยจะมีชีวิตได้อีกนานเท่าไหร่ ส่วนใหญ่แล้ว ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุของสมองเสื่อมของผู้ป่วย และสุขภาพโดยส่วนรวม ถ้าพูดถึงโรคอัลไซเมอร์แล้ว โดยเฉลี่ยผู้ป่วยมักจะมีชีวิตได้ราว 10 ปี บางรายอาจจะมีชีวิตอยู่ได้ถึง 20 ปี แต่ในบางรายอาการของโรคจะไปเร็วมาก อาจจะเสียชีวิตภายใน 2-3 ปี พบว่าผู้ป่วยอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมอื่น ๆ นั้น ถ้าหากว่าสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี อาการดำเนินโรคเกี่ยวกับทางสมองเสื่อมจะดำเนินไปอย่างช้า ๆ แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่ผู้ป่วยเหล่านี้มีปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ เช่นต้องเข้าโรงพยาบาล หกล้มสะโพกหักต้องผ่าตัด เป็นหวัดปอดบวม หรือมีกล้ามเนื้อหัวใจตายต้องนอนโรงพยาบาลนาน ๆ คนไข้พวกนี้อาการสมองเสื่อมจะเลวลงอย่างมาก มีการติดเชื้อในช่วงที่พักรักษาตัวด้วยปัญหาสุขภาพอื่น ๆ และถึงแม้จะรักษาโรคทางกายอื่น ๆ เหล่านั้นหายเรียบร้อยแล้ว อาการทางสมอง และความจำมักจะดีขึ้นอย่างช้า ๆ แต่อย่างไรก็ตามที เรื่องความจำก็จะยังแย่กว่าที่คนไข้เคยเป็นช่วงก่อนที่จะไม่สบาย

ดังนั้นจึงอยากจะแนะนำผู้ที่ดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ว่า จะต้องดูแลให้ได้รับอาหารอย่างเพียงพอ มีสารอาหารครบถ้วน หรือ บริโภคอาหารครบ 5 หมู่ ให้มีการออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ เพื่อให้มีการทรงตัวที่ดี ลดโอกาสที่จะหกล้ม ระมัดระวังอย่าให้ไม่สบายเป็นหวัด ระมัดระวังการใช้ยาต่าง ๆ โดยไม่จำเป็น เพราะยาบางชนิดทำให้อาการสมองเสื่อมเลวลง การระมัดระวังเหล่านี้ จะทำให้การดำเนินโรคสมองเสื่อมช้าลง

การดำเนินโรคของผู้ป่วยอัลไซเมอร์

ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มักจะแบ่งการดำเนินโรคออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกคือระยะที่มีอาการเล็กน้อย ระยะที่สองคือระยะปานกลาง และระยะที่สามคือระยะรุนแรง ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักจะมีปัญหาเรื่องความจำ เรื่องการใช้ภาษา การทำกิจวัตรประจำวันและบุคลิกภาพ

ในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการน้อย หรืออยู่ในช่วงระยะแรกนั้น ผู้ป่วยมักจะจำเรื่องบางอย่างไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ตัวเองพึ่งจะพูดไปหรือพึ่งจะทำไปเพราะจำไม่ได้ ผู้ป่วยมักจะพูดซ้ำ ๆ โทรศัพท์ไปหาลูกวันละหลาย ๆ ครั้งเพื่อบอกเรื่องเดิม ๆ ผู้ป่วยจะถามซ้ำ ๆ มีคนเอาของมาให้ก็จะบอกไม่ได้ว่าใครเอามาให้ เป็นต้น ความจำที่เป็นความจำระยะก่อน เช่นความจำในช่วงยังสาว อาจจะจำได้ดีอยู่ จำได้ว่าบ้านตอนนั้นอยู่ตรงไหน เป็นยังไง พี่น้องยังไง จะเล่าแต่เรื่องเก่า ๆ ซ้ำ ๆ แต่บางครั้งถ้าให้เล่าจริง ๆ อาจจะพบว่า ลักษณะรายละเอียดของความจำเก่า ๆ นั้น ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง หรือบิดเบือนไปจากที่เป็นจริง นอกจากเรื่องความจำแล้ว ผู้ป่วยมักจะมีปัญหากับเรื่องการใช้ภาษา ผู้ป่วยระยะนี้มักจะเรียกสิ่งของที่เป็นชื่อเฉพาะเรียกคำนามเฉพาะนี้ได้ลำบาก อาจจะเรียกชื่อคนไม่ถูก อาจจะไม่สามารถเรียกนาฬิกาได้ถูกต้อง แต่ทราบว่านาฬิกานี้เอาไว้ใช้ดูเวลา ยิ่งของที่ใช้น้อยหรือนาน ๆ จะพูดถึงเสียทีก็จะยิ่งพูดไม่ถูกหรือเรียกไม่ถูก บางครั้งต้องอธิบายกันหลายอย่าง กว่าจะทราบว่าผู้ป่วยจะกล่าวถึงอะไร ผู้ป่วยจะยังคงทำกิจวัตรประจำวันได้ ไปอาบน้ำได้ แต่งตัวได้ แต่มักพบว่าการทำกิจวัตรประจำวันนั้นช้าลงกว่าเดิม บางครั้งผู้ป่วยหายเข้าไปในห้องน้ำเป็นเวลานาน ๆ จึงจะออกมา กว่าจะอาบน้ำเสร็จนานมาก อาจจะทิ้งสิ่งของไว้เรี่ยราดเลอะเทอะ ในระยะนี้ผู้ป่วยจำนวนมากจะเริ่มรู้ว่าตัวเองผิดปกติ จะพยายามไปพบแพทย์และบ่นว่าความจำไม่ดี ส่วนมากแพทย์มักจะยังไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติที่ชัดเจน มักจะบอกว่าลืม อาจจะมีความรู้สึกกระวนกระวายวุ่นวายอยู่ไม่สุข กลับกันบางรายอาจจะมีลักษณะซึมเศร้าแยกตัวถดถอย ไม่ยอมรวมกลุ่มกับใคร ยิ่งทำให้อาการหลงลืมเป็นมากขึ้น อาการของโรคในระยะแรกนี้อาจจะเป็นตั้งแต่ 1- 5 ปี

ระยะที่สอง อาการของโรคจะดำเนินต่อไปจะสูญเสียความจำใกล้ ๆ มากขึ้นจำไม่ได้ว่ากินข้าวไปแล้ว พอเห็นคนอื่นมาทานก็จะทานอีก คนอื่น ๆ ก็จะยืนยันว่ากินไปแล้ว แต่ผู้ป่วยก็จะไม่เชื่อ จะเกิดการทะเลาะโต้เถียงกัน ระยะนี้ผู้ป่วยหลายรายเริ่มมีความบกพร่องในการดูแลตัวเอง มักจะไม่อาบน้ำ ลืมไปว่าจะต้องตัดเล็บ ต้องสระผม บางครั้งชวนไปอาบน้ำก็โกรธ ให้ไปอาบเองก็ไม่ยอมไป สืบเสาะไปมาจึงทราบว่า ที่ไม่ยอมไปนั้นเพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปเอาเสื้อผ้าที่ไหน จะต้องเปิดน้ำอย่างไร นึกไม่ออกว่าจะต้องทำอย่างไงต่อไป จึงเกิดการบ่ายเบี่ยง ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ชอบออกนอกบ้าน อาจจะหลงทางเพราะจำทิศทางไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ถนนนั้นอยู่ห่างออกจากบ้านไปไม่กี่สิบเมตรเอง แต่ก่อนเคยเดินไปได้ถึงสี่แยกที่อยู่ใกล้บ้าน แต่คราวนี้เดินไปถึงสี่แยกแล้วนึกไม่ออกว่าจะต้องเลือกเส้นทางไหน ถึงจะกลับบ้านได้ถูกต้อง ผู้ป่วยก็พยายามมองและก็เดินไปเดินไปเรื่อย ๆ ในที่สุดหลง ถ้าถามว่าบ้านอยู่ที่ไหนก็จะตอบไม่ได้ รู้แต่ว่าอยู่ใกล้ ๆ กับสะพานสูง ๆ หรือบอกแต่ว่าบ้านมีต้นไม้ใหญ่ ๆ ระยะนี้ผู้ป่วยจะใช้ภาษาผิดพลาดมากกว่าเดิม จะเรียกคำศัพท์เฉพาะไม่ค่อยถูกต้อง เรียกชื่อคนผิด ๆ ถูก ๆ ความเฉลียวฉลาดจะลดลงมาก ไม่สามารถจะใช้เงินทองได้ ไม่สามารถจะบวกลบเลขได้ถูกต้องได้ บางทีใช้สตางค์แล้ว ไม่รู้ว่าเค้าจะทอนมาถูกไมต้อง จ่ายเท่าไหร่ได้เงินมาก็นับแล้วนับอีกไม่ถูกซักที ระยะนี้อาจจะเป็นอยู่ 2- 5 ปี

ระยะที่ 3 ระยะรุนแรงความเฉลียวฉลาดของผู้ป่วยจะลดลงมาก ความจำจะแย่ลงไป คนไข้จะจำคนใกล้ชิดไม่ได้ จะจำไม่ได้ว่าคนนี้ชื่ออะไร มีความสัมพันธ์กับตนอย่างไร เป็นภรรยาหรือเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ แต่รู้ว่าคนนี้เรายังรู้จัก จะแสดงสีหน้ายินดีที่เจอ จะเข้ามาทักทายปราศรัย แต่เรียกชื่อไม่ถูก คนไข้บางคนก็จะเริ่มจำตัวเองไม่ได้ ไม่รู้ว่าตัวเองชื่ออะไร เกิดเมื่อไหร่ อายุเท่าไหร่ คนไข้อาจจะมีความประพฤติผิดปกติแต่ควบคุมไม่ได้ กินอาหารเลอะเทอะมอมแมะ ขนของทิ้งขว้างปาสิ่งของเอาของไปซ่อน ผู้อาจจะป่วยจะเริ่มไม่สามารถบอกได้เกี่ยวกับการขับถ่าย ปัสสาวะอุจจาระไม่เลือกที่เลอะเทอะ ผู้ป่วยจะเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงจะเดินน้อยลงทุกที ผู้ป่วยจะไม่พูด ถ้าพูดก็จะพูดสั้น ๆ ซ้ำ ๆ ในที่สุดผู้ป่วยก็มักจะเสียชีวิตจากแผลกดทับ หรือการเป็นปอดบวม

การตรวจคอมพิวเตอร์สมองจะบอกได้เลยไหม ว่าเป็นสมองเสื่อมหรือเปล่า

การตรวจคอมพิวเตอร์สมองอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถจะวินิจฉัยได้ว่า ผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่ เพราะการตรวจคอมพิวเตอร์สมอง จะเห็นได้แต่เพียงว่าเนื้อสมองอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือผิดปกติไปอย่างไร หรืออาจจะเห็นลักษณะเนื้องอกในสมอง หรือลักษณะอาการฝ่อเหี่ยวของสมองอย่างไร แต่จะต้องประกอบกับลักษณะอาการของผู้ป่วย ซึ่งได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการทำทดสอบสมรรถภาพด้านสมองด้วย ดังนั้นคนที่สงสัยว่าเป็นสมองเสี่อมนั้น ควรจะไปพบแพทย์ ไม่ใช่ไปทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง

ถ้ามีอาการแบบสมองเสื่อมแต่เอกซเรย์คอมพิวเตอร์แล้วหมอบอกปกติดี สมองเหี่ยวไม่มากอยู่ในเกณฑ์เดียวกับคนปกติ อย่างนี้จะเป็นโรคสมองเสื่อมไหม

ผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อมในระยะต้น โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์ อาจจะมีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปกติได้ ดังนั้นถึงแม้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์แล้ว จะบอกว่าลักษณะสมองปกติ ผู้ป่วยก็อาจจะเป็นสมองเสื่อมได้ ทั้งนี้จะต้องติดตามดูผู้ป่วยต่อไป ในที่สุดมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสมอง สมองจะเหี่ยวมากขึ้น ซึ่งตอนนั้นจะช่วยบอกเราได้ว่า ผู้ป่วยน่าจะเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างแน่นอน

มีญาติเป็นอัลไซเมอร์ ลูกหลานจะเป็นด้วยไหม เจาะเลือดจะทราบไหม

เราพบว่ามีความผิดปกติทางพันธุกรรมในผู้ป่วยสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ แต่เรายังไม่ทราบชัดเจนถึงลักษณะถ่ายทอดทางพันธุกรรมนี้ หมายความว่า ผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์ มักจะมีความผิดปกติอยู่ในพันธุกรรม แต่ก็จะมีคนอีกหลาย ๆ คน ที่เป็นอัลไซเมอร์ ก็มีลักษณะความผิดปกติเหล่านี้อยู่ด้วยเช่นกัน ดังนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า อัลไซเมอร์นั้นมีความผิดปกติอยู่ในพันธุกรรม แต่อาจจะมีปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งมากระตุ้น ทำให้ลักษณะความผิดปกติแสดงออกมา จนทำให้เกิดโรคในที่สุด คนบางคนที่มีความผิดทางพันธุกรรมอยู่ แต่สามารถอยู่อย่างดีไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ก็เจอได้เรื่อย ๆ แสดงว่าคนกลุ่นนั้นเขาโชคดี ไม่มีอะไรมากระตุ้นพันธุกรรมที่ผิดปกติ และทำให้เกิดโรคขึ้น ในขณะนี้มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ คนที่มีญาติเป็นอัลไซเมอร์ ขอให้ทำใจให้สบาย ฝึกจิตคิดแต่สิ่งที่ดีงาม รู้จักการให้แล้วก็คิดว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับมนุษย์นี้ ล้วนมีลิขิตมาแล้ว แต่ศาสนาพุทธก็เชื่อว่าเป็นผลแห่งกรรม ถ้าทำใจได้อย่างนี้ วันหนึ่งถ้าจะต้องเป็นคงต้องเป็น ถ้าไม่เป็นก็ไม่เป็น อย่าได้มีความทุกข์ติดตัวเลย การเจาะเลือดนั้นจะบอกได้ว่า คุณมีพันธุกรรมที่ผิดปกติอยู่หรือไม่ บอกได้แต่เพียงว่ามีหรือไม่มี แต่บอกไม่ได้ว่า คุณจะเป็นหรือไม่เป็น ทั้งนี้ต้องดูอาการต่อไปข้างหน้า


© 2001 พญ. สิรินทร ฉันศิริกาญจน

Back To Top © 2001-2009 RxRama ---- All rights reserved.